ABSTRACT
การสำรวจข้อมูลศักยภาพท่องเที่ยวชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ วิเคราะห์ และประเมินผลข้อมูลการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนภายในจังหวัดพิษณุโลกจาก 4 เทศบาลตำบล ได้แก่ 1) เทศบาลตำบลนครไทย อำเภอนครไทย 2) เทศบาลตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง 3) เทศบาลตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ และ 4) เทศบาลตำบลปลักแรด อำเภอบางระกำ และ 8 องค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ 1) องค์การบริหารส่วนตำบลปากโทก อำเภอเมือง 2) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง 3) องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย 4) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพร้าว อำเภอนครไทย 5) องค์การบริหารส่วนตำบลมะต้อง อำเภอพรหมพิราม 6) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ 7) องค์การบริหารส่วนตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง และ 8) องค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ที่ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวชุมชนมิติเกษตรกรรม มิติสุขภาพ มิติวัฒนธรรม และมิตินิเวศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาจัดทำระบบแหล่งท่องเที่ยวชุมชน (Community Touring System) โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสำรวจ ใช้วิธีคำนวณจากค่าคะแนนตัวบ่งชี้ (Indicator) ของแต่ละดัชนี (Index) และนำไปคิดเป็นดัชนีรวม (Composite Indicator) ซึ่งแบ่งเกณฑ์ศักยภาพการบริการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเป็น ๓ ระดับ ประกอบด้วย ระดับดี ปานกลาง และต้องปรับปรุง
ผลการสำรวจพบว่า ภายในพื้นที่ 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลก มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ได้รับการสำรวจข้อมูลศักยภาพจำนวน 37 แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีเกณฑ์ศักยภาพในการบริการจัดการทั้ง 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับดี 14 แหล่งท่องเที่ยว ตั้งแต่ลำดับที่ 1 – 14 ระดับปานกลาง 17 แหล่งท่องเที่ยว ในลำดับที่ 15 – 31 และต้องปรับปรุง 6 แหล่งท่องเที่ยวในลำดับที่ 32 – 37 (อ้างอิงลำดับการจัดอันดับจากตารางที่ 262) โดยมีผลการสำรวจข้อมูลใน 3 ลำดับแรก ที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุด ในกลุ่มระดับดี ได้แก่ กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ ตำบลปากโทก อำเภอเมือง (แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมิตินิเวศ) มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 97.83 รองลงมาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบัวสวรรค์ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง (แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมิติเกษตรกรรม) และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ตำบลปากโทก อำเภอเมือง (แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมิติเกษตรกรรม) มีค่าดัชนีรวมเท่ากันที่ร้อยละ 92.39
สำหรับการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในภาพรวมของทั้ง 37 แหล่งท่องเที่ยว ขึ้นอยู่กับระดับเกณฑ์ศักยภาพที่ได้รับการประเมิน กล่าวคือ แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับเกณฑ์ประเมินในระดับดี ในภาพรวมควรดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการด้านนักท่องเที่ยว ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับเกณฑ์ประเมินในระดับปานกลาง ในภาพรวมควรดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวก และแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับเกณฑ์ประเมินในระดับต้องปรับปรุง ในภาพรวมควรดำเนินการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกและการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อหนุนเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในลำดับต่อไป
โครงการชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างเครือข่ายรณรงค์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
สิงหาคม 2561
VDO :
https://youtu.be/CFu_A59sx6M