การสำรวจข้อมูลศักยภาพท่องเที่ยวชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดบึงกาฬ

31 ส.ค. 2561 |


ABSTRACT
การสำรวจข้อมูลศักยภาพท่องเที่ยวชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ วิเคราะห์และประเมินผลข้อมูลการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนภายในจังหวัดบึงกาฬ ประกอบด้วย 3 เทศบาลตำบล ได้แก่ 1) เทศบาลตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ 2) เทศบาลตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ และ 3) เทศบาลตำบลโนนสว่าง อำเภอเมืองบึงกาฬ และ 1 องค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบัวตูม อำเภอโซ่พิสัย ที่ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวชุมชนมิติเกษตรกรรม มิติวัฒนธรรม และมิตินิเวศ โดยไม่พบข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชนมิติสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาจัดทำระบบแหล่งท่องเที่ยวชุมชน (Community Touring System) โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสำรวจ ใช้วิธีคำนวณจากค่าคะแนนตัวบ่งชี้ (Indicator) ของแต่ละดัชนี (Index) และนำไปคิดเป็นดัชนีรวม (Composite Indicator) ซึ่งแบ่งเกณฑ์ศักยภาพการบริการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเป็น ๓ ระดับ ประกอบด้วย ระดับดี ปานกลาง และต้องปรับปรุง

ผลการสำรวจพบว่า ภายในพื้นที่ 4 องค์การบริหารส่วนตำบล ภายในจังหวัดบึงกาฬ มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ได้รับการสำรวจข้อมูลศักยภาพจำนวน 8 แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีเกณฑ์ศักยภาพในการบริการจัดการทั้ง 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับดี 2 แหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ ๑) กลุ่มสตรีพัฒนาอาชีพบ้านท่าคำมิด ตำบลบัวตูม มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 70.65 และ 2) วัดหอคำ ตำบลหอคำ มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 69.57 ระดับปานกลาง 3 แหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ ๑) กลุ่มไม้กวาดเงินล้าน ตำบลบัวตูม มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 52.17 ๒) ภูสิงห์ ตำบลโคกก่อง มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 51.09 และ ๓) ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน ตำบลบัวตูม มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 42.39 และต้องปรับปรุง 3 แหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ 1) แก่งอาฮงโนนสาวเอ้ ตำบลโนนสว่าง มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 26.09 2) วัดถ้ำศรีวิไลย์วนารามและวัดสว่างสำราญธรรมคุณ ตำบลโนนสว่าง มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 22.83 และ 3) หินสามเส้า ตำบลโนนสว่าง มีค่าดัชนีรวมร้อยละ 22.83
 
สำหรับการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในภาพรวมของทั้ง 9 แหล่งท่องเที่ยว ขึ้นอยู่กับระดับเกณฑ์ศักยภาพที่ได้รับการประเมิน กล่าวคือ แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับเกณฑ์ประเมินในระดับดี ในภาพรวมควรดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับเกณฑ์ประเมินในระดับปานกลาง ในภาพรวมควรดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวก และแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับเกณฑ์ประเมินในระดับต้องปรับปรุง ในภาพรวมควรดำเนินการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวก และการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อหนุนเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในลำดับต่อไป
 
 
โครงการชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างเครือข่ายรณรงค์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
สิงหาคม 2561

VDO : https://youtu.be/KJggu_gDWgk