ปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างฯ ๒๕๖๐

8 มี.ค. 2560 |




ปฏิญญา

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประจำปี ๒๕๖๐
ประกาศ ณ วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐
ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

นำโดย นายสมพร ใช้บางยาง
ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

.............................................

พวกเราเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทพระราชดำรัส และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใช้ในการบเคลื่อนขบวนการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นับแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน ทั้งหลักการทรงงาน ยุทธศาสตร์การพัฒนา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และคำสอนด้านการพัฒนาอื่นๆ จนทำให้การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นมีความก้าวหน้าไประดับหนึ่ง


ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยได้กำหนดให้ทุกองคาพยพของสังคมมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และยังสอดคล้องกับวาระแห่งการพัฒนาของโลกในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า ที่เรียกว่า ๑๗ เป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติได้รับมาดำเนินการ

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐ และยังคงมุ่งมั่นที่จะน้อมนำสิ่งที่พ่อสอน สิ่งที่พ่อทำ เป็นหลักคิด แนวทาง และวิธีการ ขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนที่ใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานการพัฒนา ดังที่ปรากฎในชื่อของเวทีครั้งนี้ “ตามรอยพ่อ สานต่อปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่”

พวกเรา เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  ด้วยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงขอตั้งปณิธานร่วมกัน “ตามรอยพ่อ สานต่อปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่”
อันมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชุมชนท้องถิ่นที่ส่งผลต่อการพัฒนาระดับประเทศ และสนองตอบต่อวาระการพัฒนาของโลก โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้บรรลุผล
ใน ๓ ประการ ดังนี้
        ประการที่หนึ่ง การปกปักรักษาและอนุรักษ์ระบบนิเวศของชุมชน  เพื่อการมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่ถูกสุขอนามัย การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การลดโลกร้อน การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเล การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการยุติการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
       ประการที่สอง การสร้างเศรษฐกิจแบบพอเพียงและความมั่นคงของชุมชน เพื่อการเข้าถึงบริการทางพลังงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการประกอบอุตสาหกรรม
อย่างยั่งยืน การลดความไม่เท่าเทียมกันภายในและระหว่างประเทศ การพัฒนาชุมชนเมืองที่ยั่งยืน
       ประการที่สาม การสร้างความเท่าเทียม ทั่วถึง และเกื้อกูลในชุมชน เพื่อขจัดความยากจน ขจัดความโหยหิว สร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ทุกคนได้รับโภชนาการที่
เพียงพอการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน การมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วง และเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งการสร้างสันติภาพ

ในโอกาสนี้ สมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ขอปฏิญาณตนที่จะทำ ๘๙ กิจกรรมอาสาทำดี ที่ทำได้ทุกวันจันทร์ ทำทุกวันที่ ๕ ของเดือน และทำได้ทุกวันจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อของคนไทยทุกคน