ป่าชายเลน: อนุบาล ธนาคาร ปราการ และคาร์บอน

22 มิ.ย. 2560 |
ในปัจจุบันสถานการณ์พื้นที่ป่าชายเลนโลก มีประมาณ 133 ล้านไร่ โดยกระจายอยู่ในเขตร้อน 3 เขตใหญ่ ได้แก่ เขตร้อนแถบเอเชีย พื้นที่ประมาณ 61 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.4  รองลงมาคือแถบร้อนอเมริกา พื้นที่ประมาณ 46 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 34.9  และแถบแอฟริกา 24 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.7 [1] ส่วนพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 1.5 ล้านไร่ กระจายตัวทางฝั่งด้านอ่าวไทย และฝั่งด้านทะเลอันดามันตาม 24 จังหวัด [2] แสดงดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทย ปี 2543 และ 2552
ภาพที่ 1 พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทย
ที่มา: สนิท อักษรแก้ว. ประชากรและทรัพยากรชายฝั่งทะเล (รวมบทความทางวิชาการ). ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2545.
          สำหรับประเทศไทยมีการพบชนิดพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนทั้งหมด 81 ชนิด ซึ่งการขึ้นลงของน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นตัวกำหนดการแบ่งเขตพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ชนิดพันธุ์ไม้สกุลโกงกางจะพบมากที่สุดได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก และรองจากนั้น คือ แสมขาว ถั่วขาว พังกาหัวสุมดอกแดง และลำพู [3] โดยระบบนิเวศที่หลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนเป็นแหล่งธนาคารอาหารที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงประชาชนชาวไทยมาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 
          ดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) “ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบัน ป่าชายเลนของประเทศไทย กำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายไป โดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลก และขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย” ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงพัฒนาโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนขึ้นมา เช่น โครงการพัฒนาป่าชายเลน จังหวัดสงขลา โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านการจัดการป่าชายเลนพวกเราปวงชนชาวไทย
          ในสถานการณ์ปัจจุบันการบริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งได้รับบรรจุเป็นวาระที่สำคัญ ของ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ได้แก่ เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) [4] ระบุถึงความสำคัญที่จะต้องอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งชายเลนเพื่อเพิ่มสัดส่วนของมวลสัตว์น้ำ (Fish stocks) ให้อยู่ในระดับความยั่งยืนทางชีวภาพ กำกับการประมงเกินขีดจำกัด หรือ การประมงที่ผิดกฎหมาย และบริหารจัดการให้มีการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาดสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน
          ถึงแม้ว่าประเทศไทยะจะมีเนื้อที่ป่าชายเลนประมาณ ๑.๕ ล้านไร่ แต่ในเนื้อที่ป่าชายเลนดังกล่าวคือสายสัมพันธ์แห่งความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนท้องถิ่นและธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงพื้นบ้านที่ป่าชายเลนเป็นทั้ง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ธนาคารอาหารชุมชนที่จับสัตว์น้ำที่โตเต็มวัย ปราการที่หลบภัยจากภัยพิบัติธรรมชาติ และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น สังคมไทย และสังคมโลก โดยป่าชายเลนมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนใต้พื้นดิน 6.21 ตันต่อไร่ และการกักเก็บเหนือพื้นดิน 13.22 ตันต่อไร่ [5]

 
ภาพที่ 2 การกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลน
ที่มา: สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
          ดังนั้นการร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนของประเทศไทย จึงเปรียบเสมือนคือการลงมือทำความดีด้วยการปฏิบัติในการตามรอยในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล รวมถึงเป็นกลไกที่สำคัญในการรับมือการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเป็นปัญหาที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจที่จะสรุปผลความเสียหายได้อย่างเป็นรูปธรรม ถ้าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมากเกินกว่า ๒ องศาเซลเซียส
 
[1] สนิท อักษรแก้ว. 2541. ป่าชายเลน นิเวศวิทยาและการจัดการ. ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
[2] ฐานความรู้ทางทะเล. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.mkh.in.th/index.php/2010-03-22-18-04-43/2010-03-25-13-46-26
[3] กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง .(ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.marinegiscenter.dmcr.go.th/km/mangroves_doc03/#.WUCS2Ot97IU
[4] ป่าไม้กับการกักเก็บคาร์บอน. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: www.tsdf.or.th/th/seminar-event/10268/เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
[5] มูลนิธิมั่นพัฒนา.เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : www.tsdf.or.th/th/seminar-event/10268/