“หมุนเวียน” พลังงานแห่งชุมชน

21 มิ.ย. 2560 |
     
        ประเด็นร้อน
ที่ถูกนำมากล่าวถึงในการอภิปรายเป็นอันดับต้นๆของโลก คงหนีไม่พ้นผลกระทบใกล้ตัวอันเป็นผลพวงมาจากการกระทำของมนุษย์จากกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความผันผวนทางภูมิอากาศ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change)
          อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก เซอร์ นิโคลัส สเติน (Sir Nicholas Stern) กล่าวว่า [1] “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำมาซึ่งความล้มเหลวในกลไกตลาดระดับโลกอย่างกว้างขวาง อาจถึงขั้นระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยผลกระทบทางสังคมนั้นจะหมายถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนต้องมาแบกรับภาระมากกว่าประเทศที่ร่ำรวย หากไม่เริ่มดำเนินการเพื่อลดระดับความรุนแรงนี้ เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความสูญเสียอย่างถาวร”
การพัฒนาแบบเดิมที่มองเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายและเทคโนโลยีเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการลดลงของทรัพยากรเป็นอย่างมาก การปรับทัศนคติโดยมุ่งเป้าหมายเพื่อ อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติไม่ใช่พิชิตธรรมชาติ จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน
          สถานการณ์พลังงานในปัจจุบันการลดการบริโภคพลังงานจากฟอสซิลและจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปและหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นกลไกการพัฒนาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้วิกฤตการณ์โลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชการที่ 9 และพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2548 ความว่า “ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยันหาวิธีที่ทำให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่ เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้น จะหมดภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทนเราก็เดือดร้อน  
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน[2]ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการพลังงาน จึงบรรจุการสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถหาซื้อได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืนไว้ในเป้าหมายที่ 7 จาก 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  
 
         อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มมีการใช้แหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ แต่การนำพลังงานทางเลือกเหล่านี้มาใช้ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการนำเข้าพลังงานจากน้ำมันดิบ ก๊าซ ธรรมชาติ และถ่านหิน การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังนั้นการเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ผ่านการส่งเสริมมาตรการการใช้พลังงาน มาตรการบังคับ การสร้างแรงจูงใจทางด้านราคาและตลาด หรือมาตรการความร่วมมือโดยสมัครใจ อาทิเช่น การพัฒนามาตรฐานการดำเนินโครงการลดก๊าชเรือนกระจกภาคสมัครใจ ซึ่งได้พัฒนาตามแนวทางมาตรฐานสากลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำปริมาณการลดก๊าชเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิต[3]ไปจำหน่ายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 ปริมาณการลดก๊าชเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิต
ที่มา: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ประกอบการสัมนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสําหรับชุมชนและท้องถิ่น
          จากความสำคัญของการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่ได้กล่าวมาข้างต้นก่อให้เกิดเป็นงานวิจัยด้านพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยภายใตวิกฤตการณโลกรอน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สามารถทำได้ในระดับ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของพลังงานทางเลือกจาก 5 แหล่ง ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำขนาดเล็ก พลังงานชีวมวล และพลังงานก๊าซชีวภาพ (เน้น พลังงานขยะ) โดยใช้กระบวนการและวิธีการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณและคุณภาพ จากการใช้เครื่องมือทางการเงิน คือ ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) และ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR: Internal Rate of Return) พบว่า พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่ควรจะใช้สำหรับการก่อตั้งโรงไฟฟ้าคือ พลังงานชีวมวล โดยมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 2.69 บาท โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 3.10 บาท โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 3.35 บาท โรงไฟฟ้าพลังงานลม มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย ที่ 7.82 บาท และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 17.42 บาท (ตารางที่ 5)
ตารางที่ 5 แสดงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ที่มา: พลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยภายใต้วิกฤตการณ์โลกร้อน. ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
          อย่างไรก็ตามกระบวนการรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการปรับตัวของคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนเกิดการพัฒนาเต็มที่แล้วการบูรณาการระบบความสัมพันธ์องค์รวมใหญ่ก็จะเกิดขึ้นตามมา การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในชุมชนเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในกระบวนการผลิตของชุมชน ผ่านการสร้างศักยภาพชุมชนจากภูมิปัญญา ผสมผสานวิถีชุมชนและพลังงานทางเลือกอย่างเหมาะสม ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยประหยัดพลังงาน จะเป็นหลักการสำคัญที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมด้านการตลาด นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้น อันเป็นการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานจากสิทธิประโยชน์ที่ชุมชนได้รับโดยการสร้างเอง ใช้เอง และลดโลกร้อนด้วยตัวเอง
 
บรรณานุกรม
1 ผศ.ดร.ศุภนันทา ร่มประเสริฐ. 2558. เล่าสู่กันฟังถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
2 มูลนิธิมั่นพัฒนา.เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: www.tsdf.or.th/th/seminar-event/10268/
3 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). เอกสารประกอบการสัมนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสําหรับชุมชนและท้องถิ่น. โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558.
4 กนก กล่อมจิตร1. เกียรติยุทธ กวัญาณ2. พลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยภายใตวิกฤตการณโลกรอน. ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.