คู่มือการเก็บตัวอย่างดินเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน โดย JGSEE

18 เม.ย. 2562 |

 
ในการจัดการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควรทำการตรวจวิเคราะห์ดินในพื้นที่ก่อนการเพาะปลูก เพื่อให้ทราบว่าดินมีลักษะอย่างไร มีความอุดมสมบูรณ์ในระดับใด และเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชหรือไม่  โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เกษตรกรทราบถึงวิธีการจัดการดินและการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการดิน และการใช้ปุ๋ยเคมีที่มากเกินไปได้ ในปฏิบัติการนี้จะบอกถึงการเตรียมอุปกรณ์และขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดินเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) การวิเคราะห์ธาตุอาหาร และ 2) การวิเคราะห์ความหนาแน่นของดิน
1) การเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหาร : Texture, pH, OM, Total N, Available-P, Available-K
  • อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเก็บดินเพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหาร
    1. จอบหรือเสียมขุด  จำนวน  1  อัน
    2. พลั่วมือ  จำนวน  1 อัน
    3. ถุงซิบล็อค ขนาด 18 x 28 ซม.  จำนวน  1  ถุง
    4. ผ้าปูหรือพลาสติกสำหรับปูคลุกเคล้าดิน 1 แผ่น
  • ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดิน
    1. สุ่มเลือกจุดเก็บดิน  ในแต่ละพื้นที่ ควรเก็บดินอย่างน้อย 5 จุด โดยสามารถเลือกสุ่มเก็บได้ทั้งแบบทะแยงมุม หรือแบบซิกแซก 
    2. การขุดหลุม ใช้จอบหรือเสียมขุดหลุม ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดหลุมลึก 15 ซม.
    3. เก็บตัวอย่างดิน ใช้พลั่วแซะด้านหนึ่งของหลุมให้ได้แผ่นดินหนา 2-3 ซม. เก็บดินส่วนที่อยู่ในพลั่ว เพื่อเป็นตัวแทนของดิน 1 จุด 
    4. แบ่งดิน ส่งวิเคราะห์
      1. เก็บตัวอย่างดินให้ครบทั้ง 5  จุด
      2. นำไปวางบนผ้าใบหรือวัสดุสำหรับรองพื้น ผึ่งในที่ร่มให้ดินแห้ง
      3. ทุบย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง แล้วนำดินที่เก็บได้จากทุกจุดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
      4. แบ่งดินให้เป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน
      5. เก็บดินไว้ 1 ส่วนใส่ถุงซิบล็อค โดยเขียนฉลากบอก วันที่เก็บตัวอย่าง  ระดับความลึก พิกัดจุดที่เก็บ และชื่อสถานที่ เพื่อส่งวิเคราะห์
2) การเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่น         
สมการการคำนวณ                 BD      =        M/V
 
BD  =   ความหนาแน่นของดิน (กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร)
M   =   น้ำหนักดินหลังอบ (กรัม) 
V    =   ปริมาตรกระบอก (ลูกบาศก์เซนติเม​ตร)
  • อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเก็บความหนาแน่นของดิน
    1. จอบขุด  จำนวน  1  อัน
    2. เสียมหรือพลั่วมือ  จำนวน  1 อัน
    3. กระบอกเก็บดิน จำนวน  15  กระบอก มีขั้นตอนการเตรียมดังนี้
      1. ท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50 มม. (5 ซม.)
      2. ความหนาท่อ ประมาณ 2.5 มม.
      3. ตัดเป็นท่อน ให้ได้ความยาว 50 มม. (5 ซม.)
      4. เจียปลายท่อให้คม 1 ด้าน เพื่อให้เจาะลงดินได้
    4. ค้อนยาง  จำนวน  1  อัน
    5. ท่อนไม้  (ขนาด 8 x 15 ซม. หนา 1 นิ้ว)  จำนวน  1  อัน
    6. มีด หรือเกียงสำหรับปาดดิน  จำนวน  1 อัน
    7. ไม้บรรทัด หรือตลับเมตร  จำนวน  1  อัน
    8. กระดาษอะลูมิเนียมฟรอยด์  ขนาด  10 x 10 ซม.  จำนวน  6  แผ่น
    9. ถุงซิบล็อค ขนาด 18 x 28 ซม.  จำนวน  5  ถุง
  • ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดิน

  1. สุ่มเลือกจุดเก็บดิน ในแต่ละพื้นที่ ควรเก็บดินอย่างน้อย 5 จุด โดยสามารถเลือกสุ่มเก็บได้ทั้งแบบทะแยงมุม หรือแบบซิกแซก
  2. ขุดหลุม ใช้จอบหรือเสียมขุดเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดหลุมลึก 15 ซม.
  3. เก็บความหนาแน่น 
    1. ใน 1 จุด จะเก็บดินที่ความลึก 3 ระดับ คือ 0-5,  5-10 และ 10-15 ซม. 
    2. ใช้กระบอกเก็บดิน (สูง 5 ซม.) วางบนด้านหนึ่งของปากหลุม ใช้แผ่นไม้ปิดปากกระบอก แล้วใช้ค้อนยางตอกกระบอกลงไป ในดินจนสุดปลายกระบอก จะได้ดินที่ความลึก 0-5 ซม.
    3. ใช้มีดปาดดินให้เสมอปากกระบอก ปิดปากกระบอกทั้งสองด้านด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟรอยด์
    4. เก็บดินชั้นต่อไปที่ความลึก 5-10 ซม. และ 10-15 ซม.
  4. เขียนฉลาก ส่งวิเคราะห์
    1. เขียนฉลากบอกระดับความลึก ของดินในแต่ละกระบอก
    2. นำกระบอกเก็บดิน ทั้ง 3 กระบอก  ใส่ถุงซิบล็อคใบเดียวกัน  เขียนฉลากบอกระดับความลึก วันที่เก็บตัวอย่าง พิกัดจุด และชื่อสถานที่ เพื่อส่งวิเคราะห์
    3. เก็บดินในจุดที่เหลืออีก 4 จุด ด้วยวิธีการเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น

VDO อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=0CpeJb7UGXA